“ร่วมแรงแข็งขัน ช่วยกันพัฒนา ใฝ่หาสันติ” 20 กันยายน วันเยาวชนแห่งชาติ

ตามที่องค์การสหประชาชาติ (UNITED NATIONS) ได้ประกาศให้ปี พ.ศ. 2528 เป็นปีเยาวชนสากล และขอให้ประเทศสมาชิกร่วมเฉลิมฉลองปีเยาวชนสากล ภายใต้คำขวัญ “ร่วมแรงแข็งขัน ช่วยกันพัฒนาใฝ่หาสันติ” หรือ Participation, Development and Peace เพื่อมุ่งเน้นให้เยาวชน อันหมายถึงหนุ่มสาว ที่มีอายุตั้งแต่ 18–25 ปี ได้ตระหนักถึงความสำคัญของตนเองที่จะเป็นพลังสำคัญในการพัฒนาประเทศชาติในอนาคตและสามารถช่วยสร้างเสริมกิจกรรมที่เป็นประโยชน์ต่อสังคม

ดังนั้นสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมและประสานงานเยาวชนแห่งชาติ (สยช.) ในขณะนั้น ได้เสนอต่อคณะรัฐมนตรี ขอความเห็นชอบให้มี วันเยาวชนแห่งชาติ ซึ่งคณะรัฐมนตรีมีมติเมื่อวันที่ 18 มิถุนายน 2528 กำหนดให้วันที่ 20กันยายนของทุกปี เป็นวันเยาวชนแห่งชาติ

โดยใช้คำขวัญเดียวกันกับคำขวัญปีเยาวชนสากลคือ“Participation Development and Peace”

ความเป็นมาเครื่องหมายเยาวชนแห่งชาติ ตามที่สำนักงานเยาวชนแห่งชาติ เสนอต่อคณะกรรมการบริหารและประสานงานเยาวชนแห่งชาติ ว่า เพื่อประสิทธิภาพและความมั่นคงในการดำเนินงานเยาวชนของชาติสมควรที่จะขอพระราชทาน “เครื่องหมายเยาวชนแห่งชาติ” ใช้เป็นสัญลักษณ์ผูกพันพลังน้ำใจ และเป็นเครื่องยึดมั่นสักการบูชาร่วมกันของบรรดาเยาวชน กลุ่มเยาวชน และหน่วยงานที่ทำงานเกี่ยวกับเยาวชน จนมีพระบรมราชานุญาต
ให้นำพระมหาพิชัยมงกุฎใช้ประกอบเป็นเครื่องหมาย โดยมีรูปลักษณะของเครื่องหมาย เป็นรูปโล่สีธงชาติ มีอักษรคำว่า “เยาวชน” สีขาวอยู่ในวงกลมพื้นสีเขียว เบื้องบนเป็นรูปพระมหาพิชัยมงกุฎ มีรัศมี อุณาโลม เบื้องล่างมีอักษรสีแดงว่า พลัง พัฒนา ชาติ รองรับด้วยรวงข้าว 9 รวง แยกอยู่ทางด้านขวา 5 รวง ด้านซ้าย 4 รวง

นอกจากนี้ความสำคัญของวันที่ 20 กันยายน. ยังเป็นวันคล้ายวันพระราชสมภพของพระมหากษัตริย์ในพระบรมราชจักรีวงศ์สองพระองค์ คือ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 และพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล พระอัฐมรามาธิบดินทร รัชกาลที่ 8 ซึ่งทั้งสองพระองค์ ได้เสด็จขึ้นเถลิงถวัลยราชสมบัติในขณะที่ทรงพระเยาว์ จึงถือได้ว่าเป็นวันสิริมงคลที่เยาวชนควรสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณของล้นเกล้าทั้งสองพระองค์ ที่เยาวชนควรกระตือรือร้นในการพัฒนาตนเองและประพฤติตนให้เป็นประโยชน์ต่อชุมชน สังคม และประเทศชาติ เฉกเช่นยุวกษัตริย์ทั้งสองพระองค์

สำหรับความหมายของคำว่า เยาวชน เดิมมีผู้กำหนดไว้แตกต่างกัน แต่ภายหลังที่พระราชบัญญัติส่งเสริมการพัฒนาเด็กและเยาวชนแห่งชาติ พ.ศ. 2550 มีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 14 เมษายน 2551 ได้กำหนดความหมายคำว่า “เด็ก” และ “เยาวชน” ไว้ในมาตรา 4 แห่งพระราชบัญญัติ ฉบับนี้ว่า “เด็ก” หมายความว่า บุคคลซึ่งมีอายุต่ำกว่าสิบแปดปีบริบูรณ์ และ “เยาวชน” หมายความว่า บุคคลซึ่งมีอายุตั้งแต่สิบแปดปีบริบูรณ์ถึงยี่สิบห้าปีบริบูรณ์

อย่างไรก็ตามเป้าหมายของวันเยาวชนแห่งชาติ ที่สำคัญ มี 3 ประการ คือ
1.เพื่อให้เยาวชนช่วงอายุ 18-25 ปี ได้ตระหนักถึงความสำคัญ ในการพัฒนาตนเอง พัฒนาชุมชน พัฒนาประเทศ
2. เพื่อให้ประชาชนทั่วไปได้ตระหนักถึงความสำคัญของการพัฒนาเยาวชนให้เป็นทรัพยากรบุคคล ที่มีความสำคัญต่อประเทศชาติ ทั้งในด้านคุณภาพและคุณธรรม
3. เพื่อให้นโยบายส่งเสริม และพัฒนาเยาวชนดำเนินไปอย่างต่อเนื่องสัมฤทธิ์ผล

ทั้งนี้เพื่อประโยชน์ของตนเอง สังคม และประเทศชาติต่อไป

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องที่ต้องการถูกทำเครื่องหมาย *