เกษตรกรโยนก เชียงแสน ขอบคุณบิ๊กป้อมและ บจธ. หลังจัดหนักซื้อที่แปลงใหญ่ 426 ไร่ ช่วยเกษตรกรให้มีที่ดินทำกินพร้อมพัฒนาเป็นแหล่งเที่ยวเชิงเกษตร

ถ้าพูดถึงอำเภอเชียงแสน จังหวัดเชียงรายแล้ว จัดได้ว่าเป็นหัวเมืองชายแดนที่มีการเติบโตทางเศรษฐกิจต่อเนื่อง ทำให้เกิดการกว้านซื้อที่ดินไปเป็นจำนวนมาก ราคาที่ดินพุ่งสูงขึ้นถึงไร่ละกว่า 1 ล้านบาท จนเกษตรกร และผู้ยากจนต่างได้รับผลกระทบเนื่องจากไม่สามารถซื้อที่ดินทำกินเป็นของตัวเอง


เกษตรกรบ้านสันต้นเปา หมู่ที่ 6 ตำบลโยนก อำเภอเชียงแสน จังหวัดเชียงราย และอีกหลายหมู่บ้านใน ตำบลโยนก รวมทั้งตำบลใกล้เคียงที่ขาดที่ดินทำกิน จึงได้ร่วมตัวกันจัดตั้งกลุ่มวิสาหกิจชุมชนเกษตรกรรมยั่งยืน โยนกนคร (บ้านสันต้นเปา) เพื่อขอรับความช่วยเหลือที่ดินทำกินจาก บจธ.

พล.ต.อ. เฉลิมเกียรติ ศรีวรขาน ประธานกรรมการสถาบันบริหารจัดการธนาคารที่ดิน (องค์การมหาชน) หรือ บจธ. เปิดเผยว่า พล.อ. ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะผู้กำกับดูแล บจธ. ได้ให้ บจธ. เข้าไปช่วยเหลือแก่ประชาชนที่เดือดร้อนจากปัญหาดังกล่าวอย่างเร่งด่วน สำหรับกลุ่มวิสาหกิจชุมชนเกษตรกรรมยั่งยืนโยนกนคร (บ้านสันต้นเปา) ล่าสุด บจธ. ได้จัดซื้อที่ดินเนื้อที่ประมาณ 426 ไร่ ใช้งบประมาณจัดซื้อทั้งหมด 92,896,340 บาท ในราคาไร่ละ 218,000 บาท เพื่อนำมาบริหารจัดการให้สมาชิกวิสาหกิจชุมชนฯ จำนวน 100 ราย เฉลี่ยรายละ 3 – 4 ไร่ เป็นโครงการขนาดใหญ่ที่สุดตั้งแต่ บจธ. ดำเนินการมา และเตรียมโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินมาเป็นของ บจธ. ภายในเดือนพฤศจิกายนนี้ จากนั้นจึงทำสัญญาเช่ากับเกษตรกรและสามารถใช้ประโยชน์ที่ดินได้ในวันทำสัญญาทันที

นายกิตชนพงษ์​  อินต๊ะมูล ที่ปรึกษากลุ่มวิสาหกิจชุมชนเกษตรกรรมยั่งยืน โยนกนคร (บ้านสันต้นเปา) เปิดเผยว่า แนวทางการพัฒนาพื้นที่ ทางกลุ่มได้มีการพูดคุยในเบื้องต้นแล้วเห็นตรงกันว่า พื้นที่ที่ บจธ. จัดซื้อให้กลุ่มวิสาหกิจชุมชนเกษตรกรรมยั่งยืน โยกนกนคร (บ้านสันต้นเปา) อยู่ในทำเลเหมาะสม ใกล้กับแหล่งท่องเที่ยวในอำเภอเชียงแสนหลายแห่ง เช่น วัดพระธาตุจอมกิตติ วัดพระธาตุผาเงา ทะเลสาปเชียงแสนซึ่งเป็นแหล่งน้ำขนาดใหญ่ จึงมีเป้าหมายที่จะพัฒนาพื้นที่ให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตรไปด้วย สำหรับแนวทางการพัฒนาพื้นที่หลังจากที่โอนกรรมสิทธิ์และทำสัญญาเช่าที่ดินเรียบร้อยแล้ว ทางกลุ่มเตรียมพัฒนาสาธารณูปโภค ทำถนนสายหลักคาดว่าจะใช้ระยะเวลาประมาณ 3 เดือน จะแล้วเสร็จภายในเดือนกุมภาพันธ์ 2564 หลังจากนั้นเกษตรกรแต่ละคนจึงจะเข้าไปพัฒนาแปลงของตัวเองได้ โดยึดหลักเกษตรทฤษฎีใหม่ โคกหนองนา โดยสมาชิกในกลุ่มจะลงแรงช่วยกัน ส่วนแบบบ้านก็จะสร้างตามแบบที่มหาวิทยาลัยแม่โจ้ ซึ่งได้ลงนามในลงบันทึกความร่วมมือกับ บจธ. เป็นผู้ออกแบบให้ ส่วนโครงสร้างพื้นฐานอื่นๆ เช่น แหล่งน้ำในแปลง ไฟฟ้า ประปา ฯ จะขอการสนับสนุนจากหน่วยงานที่มีอยู่ในอำเภอเชียงแสน ซึ่งขณะนี้กลุ่มได้เตรียมความพร้อมไว้เรียบร้อยแล้ว

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องที่ต้องการถูกทำเครื่องหมาย *