วช. เชิดชู ศ.ดร.มัลลิกา อิ่มวงศ์ นักวิจัยดีเด่นแห่งชาติ ปี 66 สาขาวิทยาศาสตร์การแพทย์ ผู้ใช้งานวิจัยสยบมาลาเรียในอาเซียน ช่วยสกัดการแพร่เชื้อไปทั่วโลก

สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) จัดงานแถลงข่าว “NRCT Talk : นักวิจัยดีเด่นแห่งชาติ ประจำปี 2566 ครั้งที่ 2” เปิดตัว ศาสตราจารย์ ดร.มัลลิกา อิ่มวงศ์ แห่ง คณะเวชศาสตร์เขตร้อน มหาวิทยาลัยมหิดล นักวิจัยดีเด่นแห่งชาติ สาขาวิทยาศาสตร์การแพทย์ ประจำปี 2566 โดย ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ ได้มอบหมายให้ นายเอนก บำรุงกิจ รองผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ เป็นประธาน ณ ศูนย์จัดการความรู้การวิจัย อาคาร วช.1 สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ กรุงเทพฯ

นายเอนก บำรุงกิจ รองผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ กล่าวว่า วช. ภายใต้กระทรวง อว. มีภารกิจที่สำคัญในการยกย่อง เชิดชู ประกาศเกียรติคุณหรือยกย่องบุคคลหรือหน่วยงานด้านการวิจัยและนวัตกรรม โดยเป็นผลงานที่เป็นประโยชน์ต่อวงวิชาการส่วนรวม ซึ่งในปีนี้ วช. ได้มอบรางวัลนักวิจัยดีเด่นแห่งชาติ สาขาวิทยาศาสตร์การแพทย์ ประจำปี 2566 ให้แก่ ศาสตราจารย์ ดร.มัลลิกา อิ่มวงศ์ แห่ง ภาควิชาชีวโมเลกุลและพันธุศาสตร์โรคเขตร้อน คณะเวชศาสตร์เขตร้อน มหาวิทยาลัยมหิดล สำหรับรางวัลนักวิจัยดีเด่นแห่งชาติ วช. จัดให้มีการมอบรางวัลฯ เพื่อเป็น “กำลังใจ” ให้นักวิจัยไทยมืออาชีพที่ได้อุทิศตนให้กับการสร้างผลงานวิจัยที่มีคุณประโยชน์ต่อประชาชน สังคมและประเทศชาติจนเป็นที่ประจักษ์ และที่สำคัญต้องเป็นผู้ที่ได้รับการยอมรับยกย่องว่ามีจริยธรรมของนักวิจัย สมควรเป็นแบบอย่างแก่นักวิจัยผู้อื่นได้ ซึ่งเวที NRCT Talk จะเป็นเวทีในการที่จะนำนักวิจัยดีเด่นแห่งชาติแต่ละสาขามาร่วมพูดคุยแลกเปลี่ยนประสบการณ์ นำเสนอผลงานวิจัยและนวัตกรรมผ่านสื่อมวลชนและยังเป็นการเชิดชูนักวิจัยทางด้านสาขาวิทยาศาสตร์การแพทย์ ที่มีคุณค่า สร้างแรงจูงใจ และกระตุ้นให้นักวิจัยเกิดยกระดับงานวิจัยและนวัตกรรมสร้างองค์ความรู้พื้นฐานทางวิชาการต่อสังคมและเศรษฐกิจ ส่วนหนึ่งของผลงานวิจัยดังกล่าวจะนำไปสู่การใช้ประโยชน์ต่อสังคมของประเทศชาติต่อไป

ศาสตราจารย์ ดร.มัลลิกา อิ่มวงศ์ นักวิจัยดีเด่นแห่งชาติ กล่าวว่า ทั่วโลกเผชิญปัญหาเชื้อมาลาเรียดื้อยา มาลาเรียยังคงเป็นปัญหาหลักสำคัญของโลกคร่าชีวิตของผู้ป่วยทั่วโลกมากกว่า 600,000 คน ต่อปี ซึ่งกระทรวงสาธารณสุขของไทยและองค์การอนามัยโลกได้กำหนดยุทธศาสตร์ให้ประเทศไทยปลอดจากเชื้อมาลาเรียภายในปี พ.ศ. 2567 นำไปสู่การประยุกต์ใช้เทคนิคทางชีวโมเลกุลเป็นเครื่องมือเพื่อใช้ในการสนับสนุนยุทธศาสตร์ในการกำจัดมาลาเรียรวมถึงการดื้อยาทั้งในประเทศไทยและประเทศในกลุ่มลุ่มน้ำโขง โดยจากผลการวิจัยนำไปสู่การพัฒนาเทคนิคทางชีวโมเลกุลการตรวจหาผู้ที่ติดซื้อมาลาเรียแบบไม่แสดงอาการที่มีความไวสูงกว่าเทคนิคมาตรฐานกว่า 2,000 เท่า และนำไปตรวจในอาสาสมัครที่แข็งแรงจากไทย ลาว และกัมพูชา จำนวน 61,544 ราย เป็นครั้งแรก ทำให้สามารถบ่งชี้ได้ว่าใครเป็นผู้ติดเชื้อบ้างอยู่บริเวณใดและได้ดำเนินการให้ได้รับยาในรูปแบบ mass drug administration เพื่อกำจัดเชื้อมาลาเรีย ส่งผลให้ผู้ที่ติดเชื้อมาลาเรียลดลงถึง 5 เท่าหลังการใช้ยา จากการศึกษาค้นคว้าสู่การค้นพบการแพร่กระจายการดื้อยาอาร์เทมิซินิน จากเมืองไพลิน ประเทศกัมพูชาไปทางตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทย ลาว และเวียดนาม เป็นครั้งแรกของโลก ส่งผลให้เกิดการติดตามเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิด เพื่อไม่ให้การแพร่กระจายการดื้อยานี้กระจายไปสู่ พม่า อินเดีย และไปถึงแอฟริกาในที่สุด จากการค้นพบนี้จะช่วยสร้างระบบเร่งรัดกำจัดเชื้อมาลาเรียดื้อยาเพิ่มประสิทธิภาพของยารักษาโรคมาลาเรียที่มีอยู่สู่การพัฒนายาใหม่ควบคุมและกำจัดโรคมาลาเรียได้อย่างทันท่วงที สำหรับนักเรียน นักศึกษา หรือผู้สนใจสามารถเยี่ยมชมห้องปฏิบัติการที่ใช้ในการตรวจหาเชื้อมาลาเรีย ได้ที่โรงพยาบาลเวชศาสตร์เขตร้อน คณะเวชศาสตร์เขตร้อน มหาวิทยาลัยมหิดล โทร. 0 2306 9100-09 ต่อ 1414 และ 1418

ทั้งนี้ วช. ได้มีการจัดงาน NRCT Talk ขึ้นอย่างต่อเนื่อง เป็นเวทีให้นักวิจัยได้นำเสนอผลงานวิจัยและนวัตกรรมผ่านสื่อมวลชนและยังเป็นการเชิดชู ให้นักวิจัยดีเด่นแห่งชาติ ได้ถ่ายทอดประสบการณ์ เพื่อสร้างแรงจูงใจ และกระตุ้นให้นักวิจัยท่านอื่น ๆ เกิดการเรียนรู้อย่างต่อเนื่อง เพื่อพัฒนาคน พัฒนางาน พร้อมยกระดับงานวิจัยและนวัตกรรมสร้างองค์ความรู้สู่การพัฒนาและเปลี่ยนแปลงโลกแห่งอนาคต สู่การพัฒนาคุณภาพชีวิตของคนไทยและขับเคลื่อนประเทศได้อย่างยั่งยืน

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องที่ต้องการถูกทำเครื่องหมาย *