สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) เยี่ยมชมความสำเร็จจากการสนับสนุนสิ่งประดิษฐ์ ลูกหมุนระบายอากาศผลิตกระแสไฟฟ้าร่วมกับเซลล์แสงอาทิตย์

สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ได้ทำการศึกษาวิจัย “ลูกหมุนระบายอากาศผลิตกระแสไฟฟ้าและมอเตอร์” (New Energy Ventilator) เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพสิ่งประดิษฐ์ลูกหมุนระบายอากาศให้สามารถผลิตกระแสไฟฟ้าร่วมกับเซลล์แสงอาทิตย์ในการประจุกระแสไฟฟ้าในแบตเตอรี่ได้มากขึ้น

จากผลงานประดิษฐ์คิดค้น “ลูกหมุนระบายอากาศผลิตไฟฟ้า และมอเตอร์” ซึ่งได้รับรางวัลสภาวิจัยแห่งชาติ : รางวัลผลงานประดิษฐ์คิดค้น ระดับดี ในสาขาวิศวกรรมศาสตร์และอุตสาหกรรมวิจัย ประจำปี 2556 จากสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) คณะผู้ประดิษฐ์จึงมีความตั้งใจที่จะนำความรู้และประสบการณ์ทางด้านพลังงานสะอาดและพลังงานทดแทน เผยแพร่สู่ชุมชนและนำไปต่อยอดความรู้

คณะผู้ประดิษฐ์ จึงมีแนวคิดในการที่จะพัฒนาลูกหมุนระบายอากาศผลิตไฟฟ้าและมอเตอร์ ให้สามารถใช้งานร่วมกับ   เซลล์แสงอาทิตย์ในการประจุกระแสไฟฟ้าเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานให้สามารถประจุกระแสไฟฟ้าเก็บไว้ในแบตเตอรี่ได้มากขึ้น และให้เป็นสิ่งประดิษฐ์ที่มีมาตรฐานเป็นที่ยอมรับทั้งด้านการระบายความร้อนและการผลิตกระแสไฟฟ้า

                ด้วยเหตุดังกล่าว วช. จึงได้สนับสนุนการวิจัยภายใต้โครงการวิจัยตอบสนองนโยบาย/เป้าหมายรัฐบาลและตามระเบียบวาระแห่งชาติ ในกลุ่มเรื่องการพัฒนาสินค้านวัตกรรมและสิ่งประดิษฐ์ ประจำปี 2559 ให้แก่ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.เอกกมล  บุญยะผลานันท์ และคณะ แห่งมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ ผลจากการวิจัยดังกล่าวพบว่า ลูกหมุนระบายอากาศได้รับมาตรฐาน AS470:2000 จากประเทศออสเตรเลีย โดยนำไปทดสอบประสิทธิภาพการผลิตกระแสไฟฟ้าจากภาควิชาวิศวกรรมไฟฟ้าและคอมพิวเตอร์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ

ทั้งนี้ นักวิจัยยังร่วมกับภาคเอกชน โดยมีนายระพี บุญบุตร เจ้าของบริษัทอาทิตย์ จักรกล จำกัด ผู้ผลิตและจำหน่ายลูกหมุนระบายอากาศที่ใช้เพียงแค่พลังงานลมโดยติดตั้งบนหลังคาของอาคาร เพื่อลดความร้อนภายในอาคาร มาพัฒนา ต่อยอดสิ่งประดิษฐ์ที่ มีอยู่เดิมให้โดดเด่นและดียิ่งขึ้น ซึ่งชุดควบคุมการประจุกระแสจาก NEV และ Solar cell ยังสามารถผลิตกระแสไฟฟ้าได้อย่างมีประสิทธิภาพได้ดีขึ้น

                  คณะนักวิจัยฯ ได้นำสิ่งประดิษฐ์ที่พัฒนาแล้วไปติดตั้งที่ ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำชายฝั่งประจวบคีรีขันธ์ จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ และศูนย์วิจัยข้าว จังหวัดอุบลราชธานี  ซึ่งลูกหมุนระบายอากาศนี้สามารถลดความร้อนภายในอาคารที่ติดตั้งได้ นอกจากนี้ยังสามารถลดพลังงานไฟฟ้าที่ใช้สำหรับแสงสว่างในเวลากลางคืน ทำให้ลดต้นทุนค่าใช้จ่ายด้านพลังงานไฟฟ้าของหน่วยงานทั้งสอง

 

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องที่ต้องการถูกทำเครื่องหมาย *