“ดีป้า” จัดงาน “รวมพลคนเกษตรดิจิทัล” สร้างการรับรู้ประโยชน์จากการนำดิจิทัลมาปรับใช้ พร้อมดึงสตาร์ทอัพร่วมถกแนวทางยกระดับภาคเกษตรไทย เพิ่มรายได้เกษตรกร

สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล หรือ ดีป้า สานต่อการสนับสนุนการนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมดิจิทัลมาประยุกต์ใช้ในภาคการเกษตร เปิดตัวกิจกรรม “รวมพลคนเกษตรดิจิทัล” สร้างความตระหนักรู้ถึงประโยชน์ของการนำดิจิทัลมาปรับใช้แก่เกษตรกร พร้อมเปิดเวทีนำเสนอแนวคิดในหัวข้อ “ดิจิทัลจะช่วยเพิ่มรายได้ให้เกษตรไทยอย่างไร” เพื่อค้นหาวิธีเพิ่มรายได้และยกระดับเกษตรไทยสู่ “เกษตรอัจฉริยะ”

ดร.ณัฐพล  นิมมานพัชรินทร์  ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล กล่าวว่า ปัจจุบัน ประเทศไทยกำลังเข้าสู่ยุคสมัยแห่งการแข่งขันทางเศรษฐกิจ ส่งผลให้ทุกภาคส่วนต้องปรับตัว โดยเฉพาะภาคการเกษตรที่จะต้องเปลี่ยนจากเกษตรพื้นฐานเป็นเกษตรมูลค่าเพิ่ม ซึ่งแข่งขันกันที่ต้นทุนและประสิทธิภาพการผลิต ดังนั้นเทคโนโลยีจึงเข้ามามีบทบาทสำคัญ

“ที่ผ่านมา ดีป้า มีนโยบายการทำงานร่วมกับภาคการเกษตรและผู้ประกอบการที่ต้องการเปลี่ยนผ่านองค์กรไปสู่ดิจิทัล และเชื่อมั่นในศักยภาพของเกษตรกรไทยว่าจะสามารถประยุกต์ใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมดิจิทัลได้ เพราะอินเตอร์เน็ตและเทคโนโลยีไม่ใช่เรื่องไกลตัวอีกต่อไป ทุกคนสามารถเข้าถึงโลกออนไลน์ได้ด้วยสมาร์ทโฟนในมือ ในขณะเดียวกัน เมื่อเราสร้างแพลตฟอร์มหรือเครื่องมือที่ดีและมีประโยชน์ให้เกษตรกร ความสามารถในการควบคุมผลผลิต ลดต้นทุน เพิ่มรายได้ และสร้างมูลค่าให้กับสินค้าหรือผลิตภัณฑ์ก็จะเกิดขึ้น แต่สิ่งสำคัญคือ การสร้างการรับรู้ถึงประโยชน์ที่ได้รับจากการนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมดิจิทัลมาปรับใช้ในการทำการเกษตร” ผู้อำนวยการดีป้า กล่าว

ดีป้า จึงได้จัดกิจกรรม “รวมพลคนเกษตรดิจิทัล” โดยมีวัตถุประสงค์ที่จะสร้างความตระหนักถึงประโยชน์จากการนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมดิจิทัลมาประยุกต์ใช้แก่เกษตรกร เพื่อเป็นการยกระดับกระบวนการผลิต การแปรรูป ตลอดจนการตลาดด้วยความเหมาะสม พอเพียง และมีแบบแผน สร้างความมั่นคงทางระบบเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรมของประเทศอย่างมีนัยสำคัญ ผ่านกิจกรรมต่าง ๆ ที่น่าสนใจ

ทั้งนี้ งาน “รวมพลคนเกษตรดิจิทัล” จัดขึ้นตั้งแต่วันนี้ (23 ก.ย.) ไปจนถึงวันที่ 25 กันยายนนี้ ณ อาคารดีป้า ลาดพร้าว โดยวันนี้ ผู้เข้าร่วมงานจะได้พบกับกิจกรรมการนำเสนอแนวคิด ในหัวข้อ “ดิจิทัลจะช่วยเพิ่มรายได้ให้เกษตรไทยอย่างไร” ซึ่งเปิดโอกาสให้วิสาหกิจดิจิทัลเริ่มต้น (สตาร์ทอัพ) และบุคคลทั่วไป จำนวน 10 ทีมที่ผ่านการคัดเลือกร่วมประชันความคิดในการนำดิจิทัลมาประยุกต์ใช้ในภาคการเกษตร เพื่อเพิ่มรายได้ให้เกษตรกร และยกระดับเกษตรไทยสู่ “เกษตรอัจฉริยะ” ต่อคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ เพื่อคัดเลือกทีมผู้ชนะ 3 ทีม ซึ่งทีมชนะเลิศ และรองชนะเลิศอันดับที่ 1 และ 2 จะได้รับเงินรางวัล พร้อมโล่รางวัล และประกาศนียบัตรจาก นายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม

สำหรับผลการแข่งขันการนำเสนอแนวคิด ในหัวข้อ “ดิจิทัลจะช่วยเพิ่มรายได้ให้เกษตรไทยอย่างไร” มีดังต่อไปนี้

1. รางวัลชนะเลิศ: นายณัฐพงศ์ ดัดสันเทียะ
ชื่อผลงาน: Cropperz ระบบประกวดราคาผลผลิตทางการเกษตร (e-bidding Platform for Agriculture)
ได้รับเงินรางวัล 20,000 บาท พร้อมโล่รางวัลและประกาศนียบัตร

2. รางวัลรองชนะเลิศอันดับที่ 1: นายธีรพงษ์ กาญจนกันติกุล
ชื่อผลงาน: ศูนย์บริการการปลูกข้าวด้วยเทคโนโลยีดิจิทัลแบบครบวงจรระดับท้องถิ่น
ได้รับเงินรางวัล 10,000 บาท พร้อมโล่รางวัลและประกาศนียบัตร

3. รางวัลรองชนะเลิศอันดับที่ 2: นายธิติพันธ์ บุญมี
ชื่อผลงาน: QBP Farmbook Thai Nationality Platform โลกแห่งฟาร์มบุคจะเชื่อมโยงทุกคนในโลกของเกษตรกรรม
ได้รับเงินรางวัล 5,000 บาท พร้อมโล่รางวัลและประกาศนียบัตร

ภายหลังพิธีมอบรางวัล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม กล่าวว่า การจัดงานในครั้งนี้เป็นความคาดหวังของตนที่ต้องการให้เกิดขึ้น หากขาดซึ่งความร่วมมือร่วมใจจากทุกฝ่ายแล้ว ความสำเร็จในลักษณะนี้จะไม่สามารถเกิดขึ้นได้อย่างแน่นอน เนื่องจากการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลกับการเกษตร เชื่อว่าหลายคนมองเป็นเรื่องไกลตัว เป็นเรื่องขายฝัน ตัวเกษตรกรส่วนใหญ่ก็คิดเช่นนั้น ซึ่งในความเป็นจริงแล้ว การใช้ดิจิทัลสามารถเพิ่มมูลค่าผลผลิต คำนวณจุดคุ้มทุน และวางแผนการเพาะปลูกได้ ด้วยระบบบิ๊กดาต้า

“โลกเปลี่ยนไปมาก เมื่อก่อนข้าวไทยนำเวียดนามแบบไม่เห็นฝุ่น แต่ปัจจุบัน เวียดนามแซงไทยด้วยเหตุผลสองประการคือ การใช้เทคโนโลยีพัฒนาคุณภาพผลผลิต สามารถทำราคาได้ อีกประการหนึ่งคือ การที่ประเทศเวียดนามทำตลาดเก่งกว่าเรามาก ทำให้ได้รับการยอมรับอย่างรวดเร็ว สิ่งที่กังวลหลังจากนี้คือ ทุเรียน ที่สร้างรายได้ให้กับเกษตรกรไทยเป็นจำนวนมากและราคาไม่เคยตกเลยนั้น ในอนาคตอันใกล้เชื่อว่า จีนก็จะปลูกในบ้านเขาและสามารถทำได้ดีกว่า ทั้งปริมาณและคุณภาพ หากเราไม่ปรับตัว อนาคตเกษตรกรไทยน่าเป็นห่วง” นายพุทธิพงษ์ กล่าว

นอกจากนี้ ภายในงานยังมีการออกร้านจับคู่ธุรกิจระหว่างผู้ให้บริการเทคโนโลยีดิจิทัลภาคการเกษตรกับเกษตรกร และการออกร้านผลิตผล หรือผลิตภัณฑ์ที่นำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้ในกระบวนการผลิต

ส่วนวันที่ 24-25 กันยายน ดีป้า ร่วมกับ สภาเกษตรกรแห่งชาติ จัดอบรมหลักสูตร “การวิเคราะห์ความคุ้มค่าในการลงทุนเทคโนโลยีเกษตรสมัยใหม่ รุ่นที่ 1” ให้กับเหล่าเกษตรกร และวิสาหกิจชุมชนที่สนใจ เพื่อสร้างการรับรู้และสามารถวิเคราะห์ความคุ้มค่าในการลงทุน โดย นางสาวนวลละออง ศรีชุมพล Investor & Entrepreneur เจ้าของฟาร์มติดเทคโนโลยี ใช้ 8 คน ดูแล 800 ไร่ บริษัท ช็อกโกแลตเค้ก จำกัด ที่จะมาร่วมมอบความรู้ พร้อมแลกเปลี่ยนประสบการณ์แก่ผู้เข้าร่วมอบรม

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องที่ต้องการถูกทำเครื่องหมาย *