สำนักงานปลัดกระทรวงอุดมศึกษาฯ ร่วมกับ สถาบันอาหารและสถาบันอุตสาหกรรมสิ่งทอ ประกาศความสำเร็จ โครงการพัฒนานวัตกรรมผลิตภัณฑ์ชุมชนสำหรับผู้ประกอบการรุ่นใหม่ (IGNITE PLUS) พร้อมโชว์สุดยอดผลงานนวัตกรรมของผู้ประกอบการกว่า 150 ผลิตภัณฑ์ มูลค่ากว่า 50 ล้านบาท

สำนักงานปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม (สป.อว.) ผนึกกำลัง 2 หน่วยงาน สถาบันอาหาร (สอห.) และสถาบันพัฒนาอุตสาหกรรมสิ่งทอ (สสท.) ประกาศผลสำเร็จ “โครงการพัฒนานวัตกรรมผลิตภัณฑ์ชุมชนสำหรับผู้ประกอบการรุ่นใหม่ (IGNITE PLUS)” ภายใต้กลไกสำคัญ Innovation-Driven Enterprises (IDEs) หนุนผู้ประกอบการ OTOP ในสาขาสิ่งทอและอาหาร สร้างและพัฒนานวัตกรรมที่เหมาะสม ตอบโจทย์ยุค 4.0 พร้อมโชว์สุดยอดผลงานนวัตกรรมของผู้ประกอบการ 150 ผลิตภัณฑ์ สร้างรายได้ให้ผู้ประกอบการเพิ่มขึ้นร้อยละ 10 และสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจไม่น้อยกว่า 50 ล้านบาท

นายเพิ่มสุข สัจจาภิวัฒน์ หัวหน้าผู้ตรวจราชการ กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม เปิดเผยว่า “กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม มีนโยบายหลักในการเตรียมความพร้อมคนไทยสู่ฐานนวัตกรรมภายใต้โมเดล ‘ไทยแลนด์ 4.0’ มุ่งเน้นการพัฒนาเทคโนโลยีนวัตกรรมอย่างครบวงจร โดยเริ่มจากการพัฒนาความสามารถของบุคลากร (Capacity Building) การพัฒนาฐานความรู้นวัตกรรม (Innovation Knowledge Based) และพัฒนาผลิตภัณฑ์ด้วยหลักการของ BCG (Bio-Circular-Green) Economy Model เพื่อตอบโจทย์การสร้างความเข้มแข็งให้แก่ผู้ประกอบการ ชุมชน และเครือข่ายในทุกภาคส่วนของประเทศ

นอกจากนั้น นายเพิ่มสุข สัจจาภิวัฒน์ หัวหน้าผู้ตรวจราชการ กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม กล่าวเสริมว่า “โครงการพัฒนานวัตกรรมผลิตภัณฑ์ชุมชนสำหรับผู้ประกอบการรุ่นใหม่ (IGNITE PLUS)” เป็นโครงการต่อยอดความสำเร็จจากปี 2560 เพื่อพัฒนาสินค้าชุมชนไทยให้มีมูลค่า ความแตกต่างและสู่สากล ด้วยการนำนวัตกรรมเทคโนโลยี และวิทยาศาสตร์เป็นเครื่องมือสำคัญในการขับเคลื่อน เน้นเทคโนโลยีที่เหมาะสมกับผู้ประกอบการชุมชน ผลิตภัณฑ์ขายได้จริง ใช้วัตถุดิบในท้องถิ่นมีต้นทุนที่เหมาะสม และตอบโจทย์ความต้องการของตลาดด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ ตลอดระยะเวลา 7 เดือน สป.อว ร่วมกับ สอห. และสสท. ดำเนินกิจกรรมการฝึกอบรมบ่มเพาะแนวคิดการพัฒนาผลิตภัณฑ์ชุมชนด้วยนวัตกรรม และการตลาดสมัยใหม่ พร้อมให้คำปรึกษาแนะนำเชิงลึกในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่มีนวัตกรรม ซึ่งกิจกรรมทุกขั้นตอนเป็นการเตรียมความพร้อมให้กับผู้ประกอบการในการนำความรู้ทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเข้ามาใช้ เพื่อพัฒนาผลิตใหม่ โดยผลสำเร็จในการดำเนินโครงการ คือ การพัฒนาผู้ประกอบการเบื้องต้น 500 กิจการ และยกระดับผลิตภัณฑ์ ด้วยนวัตกรรม 150 ผลิตภัณฑ์

สำหรับแนวทางการพัฒนาผลิตภัณฑ์นวัตกรรมของ 2 หน่วยร่วม คือ สถาบันอาหาร และสถาบันพัฒนาอุตสาหกรรมสิ่งทอ เน้นการพัฒนาผลิตภัณฑ์โดยทำงานร่วมกันระหว่างผู้ประกอบการ หลอมรวมองค์ความรู้ทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเข้ามาใช้เพื่อพัฒนาผลิตใหม่ โดยให้ผู้ประกอบการนำวัตถุดิบที่มาจากธรรมชาติ วัตถุดิบเหลือใช้ทางการเกษตร วัตถุดิบที่มีอยู่ในท้องถิ่น และมีการพัฒนานวัตกรรมที่โดดเด่น เช่น
1) การนำความรู้เทคโนโลยีนวัตกรรมมาใช้ในการแก้ไขปัญหา เช่น การถนอมอาหารใช้มีอายุการเก็บรักษานานขึ้น พกพาสะดวก และง่ายต่อการรับประทาน เช่น ขนมเทียน และขนมจีนน้ำยาใต้ พร้อมรับประทาน พร้อมปรับปรุงบรรจุภัณฑ์ที่เหมาะสมทั้งด้านการเก็บรักษาคุณภาพสินค้า
2) การพัฒนาผลิตภัณฑ์อาหารที่ตอบโจทย์ด้านสุขภาพตามทิศทางของตลาดที่กำลังเติบโต เช่น การเพิ่มสารอาหารที่สำคัญ เช่น อาหารเด็กสูตร SYNBIOTIC น้ำผักเชียงดาเข้มข้นแบบหยด กระโจมสมุนไพรย้อมสีธรรมชาติ กางเกงยีนส์สำหรับผู้สูงวัย และผ้ารัดเข่าบรรเทาอาการเจ็บปวด
3) การพัฒนาคุณสมบัติพิเศษ (Smart Function) เช่น คุณสมบัติการลามไฟ คุณสมบัติสะท้อนน้ำ และคุณสมบัติการเก็บกักความชื้น พัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์เคหะสิ่งทอ เช่น พรมปูพื้น วอลเปเปอร์
4) การนำวัสดุจากธรรมชาติ (Smart Material) เช่น เส้นใยกก เส้นใยไผ่ เส้นใยมะพร้าว พัฒนาผลิตภัณฑ์ของที่ระลึกและของใช้ เช่น รองเท้าผ้าทอไทลื้อจากเส้นใยกล้วย เส้นใยไผ่จานใส่ผลไม้ และเซรามิก
5) การพัฒนาผลิตภัณฑ์จากเศษของเหลือในกระบวนการผลิตเพื่อลดต้นทุนและการออกแบบผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม (Smart Eco-design) เช่น ดินจอมปลวกซึ่งเป็นดินที่ไม่ได้นำมาใช้ประโยชน์นำมาเป็นวัตถุดิบหลักในการผลิตเครื่องปั้นดินเผา น้ำพริกสับปะรดกรอบ ทำจากเศษสับปะรดที่แตกหักจากสับปะรดทอด และเศษข้าวแตน เอามาทำ สแน็คบาร์

ภายในงานวันนี้ นำผลิตภัณฑ์นวัตกรรมที่ได้รับการพัฒนาจากโครงการมาจัดแสดงและจำหน่ายกว่า 30 แบรนด์ ณ ลานโปรโมชั่น 2 และ 2.3 ชั้น 1 ศูนย์การค้าเซ็นทรัลเฟสติวัล อีสต์วิลล์ ซึ่งเปิดโอกาสให้ผู้สนใจได้ช๊อปสินค้า ตั้งแต่วันที่ 27 มกราคม – 2 กุมภาพันธ์ 2563

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องที่ต้องการถูกทำเครื่องหมาย *